วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิธีการปรับโฉมโรงเรียนให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้เด็กเยาวชนมีความสุขมากขึ้น



       



              นิตยสารไทม์ฉบับประจำเดือนกันยายน 2558 โดยอเล็กซานดร้า ซิฟเฟอร์ลีน คอลัมนิสต์ได้ประมวล “วิธีการปรับโฉมโรงเรียนให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้เด็กเยาวชนมีความสุขมากขึ้น” โดยได้รวบรวมบทเรียนที่น่าสนใจจากโรงเรียนทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และนโยบายของรัฐบาลกลางที่เป็นกรอบการพัฒนาให้โรงเรียนมีคุณภาพที่ดีขึ้น สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงขอประมวลประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ 8วิธีการปรับโฉมโรงเรียนให้ดีขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้เด็กเยาวชนมีความสุขมากขึ้น” โดยอเล็กซานดร้า ซิฟเฟอร์ลีน คอลัมนิสต์ของนิตยสารไทม์ ได้รวบรวมบทเรียนที่น่าสนใจจากโรงเรียนทั่วสหรัฐอเมริกา และนโยบายของรัฐบาลกลางที่เป็นกรอบการพัฒนาให้โรงเรียนมีคุณภาพที่ดีขึ้น “เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของเด็กในอเมริกา อย่างน้อยก็ในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่พวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีเวลาเล่นมีน้อย กองการบ้านเริ่มกองสูงท่วมหัว อัตราโรคอ้วนเริ่มทะยานสูงเสียดฟ้า แถมยังหาเวลานอนอย่างมีคุณภาพแทบไม่ได้” อเล็กซานดร้า ท้าวความถึงในอดีต ที่ทั้งผู้กำหนดนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ได้หาหนทางแก้ปัญหาร่วมกันโดยการให้ความรู้แก่พ่อแม่ ถึงความสำคัญของดูแลสุขภาพการกิน และการสนับหนุนให้พวกเขาจำกัดเวลาลูกๆ จากหน้าจอทีวี แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญต่างพยายามหาหนทางทีจะทำให้เกิดผลในเชิงนโยบายเพื่อเปลี่ยน“สภาพแวดล้อม” ที่เด็กได้เรียนรู้ในโรงเรียนแต่ละวันแทน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาพยายาม “ทดลอง” ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนเพื่อให้เด็กนักเรียนมีความสุขมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น และสามารถเตรียมความพร้อมให้พวกเขาทำงานและอยู่ร่วมกับนักเรียนที่มาจากหลายหลากภูมิหลัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อถูกจำกัดโดยงบประมาณที่ลดลง แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงกันในกลุ่มสมาพันธ์สหภาพครู และมาตรฐานกลางเพื่อดึงความสนใจในระหว่างที่การเลือกตั้งในปี 2016 ที่ใกล้จะมาถึง นักนวัตกรรมจึงพยายามหยิบแง่มุมใหม่ๆ ขึ้น เพื่อเริ่มตามติด หรือยกระดับการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนในอเมริกา ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเด็นที่น่าจับตามอง ได้แก่
 1) การปรับโฉม “การบ้าน” ยุคใหม่: วิจัยล่าสุดพบว่า นักเรียนในระดับประถมศึกษาไม่ได้รับประโยชน์จากการทำการบ้านหลังเลิกเรียนกับผู้ปกครอง โดยมีโรงเรียนหลายแห่ง เช่น Gaithers-burg ในรัฐแมรีแลนด์ ปรับเปลี่ยนการบ้านเป็นให้นักเรียนเลือกอ่านหนังสือที่ชอบเป็นเวลา 30 นาทีทุกวันแทน โดยครูใหญ่ได้กล่าวว่า นักเรียนของเธอดูมีความสนอกสนใจบทเรียนมากขึ้น ตั้งแต่โรงเรียนเริ่มปรับเปลี่ยนการบ้านตั้งแต่ปี 2011 โดยมีเด็กหลายคนที่มีพัฒนาการที่สูงขึ้นมากกว่าเด็กที่ยังได้รับการบ้านในแบบเดิม
2) การปรับลดการเรียนในห้อง และเพิ่มการเรียนรู้นอกห้อง: ในปัจจุบันเด็กวัยรุ่นประสบปัญหา “โรคอ้วน” สูงกว่าเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ถึง 4 เท่า ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ถึงเวลาที่เราต้องลดเวลาเรียน ไม่ใช่แค่การหยุดพัก เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กได้ขยับเขยื้อนร่างกายบ้าง ซึ่งจะลงผลดีแก่ร่างกายและจิตใจ โดยนักกุมารเวชศาสตร์ได้ให้คำแนะนำว่า กิจกรรมที่เอื้อให้เกิดการเคลื่อนไหวนั้นจะช่วยเพิ่มพลังให้สมองเด็ก หลังจากต้องเรียนถึง 7 ชม.ต่อวัน ซึ่งในเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีโรงเรียนในอเมริกาประมาณ 40% ที่ลดช่วงเวลาดังกล่าวไปเพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมในการสอบ หรือการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามโรงเรียนในย่าน Bronx เพิ่มชั่วโมงฟิตเนสเข้าเป็นเวลาเรียนในทุกวัน
3) การเฝ้าระวังการป่วยทางจิต: แม้ว่านักเรียนในระดับประถมศึกษาเกือบทั้งหมดจะถูกจับตามองและรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆ อยู่เป็นปกติ แต่ยังขาดเครื่องมือในการตรวจวัดความผิดปกติด้านสภาพจิตใจ เช่น สภาพความหดหู่ หรือความวิตกกังวล เป็นต้น ซึ่งการรักษาที่ล่าช้า จะทำให้อาการแย่ลง โดยโรงเรียนบอสตันมีระบบที่พยายามป้องกันอาการดังกล่าวด้วยการตรวจสภาพทางด้านจิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมเด็กปีละ 2 ครั้ง
4) จัดโรงอาหารให้เอื้อต่อสุขภาพการกินที่ดี: แม้ว่าโรงเรียนในอเมริกาจะจัดให้มีอาหารที่ถูกหลักสุขภาพในโรงอาหาร แต่การชักชวนให้เด็กหันมาเลือกรับประทานกลับเป็นเรื่องยากลำบาก โดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ บูมเมอร์ สคูล ออฟ พับลิค เฮลธ์ ค้นพบงานวิจัยที่ชี้ว่า มีนักเรียนเพียงครึ่งเดียวที่เลือกซื้อผักและผลไม้เป็นอาหารกลางวัน และเด็กจำนวนน้อยที่เลือกกินผักผลไม้ และเพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าว โรงเรียนบักกิ่งแฮม คันทรี่ K-5 ในเดลวิลล์ เวอร์จิเนีย ปรับเปลี่ยนห้องครัวในโรงอาหารใหม่ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นอาหารสดใหม่ที่กำลังถูกเตรียมพร้อม และโรงเรียนยังสนับสนุนให้นักเรียนผลิตวัตถุดิบเองในสวนของโรงเรียน เพื่อที่จะทำให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นและส่งต่อการส่งเสริมการกินอย่างมีคุณภาพ
5) การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในความแตกต่าง: ผลวิจัยพบว่า การเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ร่วมกันทั้งคนผิวขาว และผิวสีนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จที่สูงกว่า และเป็นการเตรียมความพร้อมเด็กสู่โลกแห่งการทำงานจริง โดยมีโรงเรียนในหลายรัฐที่พยายามสร้างให้เกิดสภาพการเรียนรู้ของเด็กที่มาจากพื้นฐานทางครอบครัวที่ต่างกัน และหลากชาติพันธุ์ร่วมกัน โดยในปี 2012-2013 พบว่า ในห้องเรียนประกอบด้วย เด็กผิวขาว 30.2 % เด็กผิวดำ 31.4% เด็กละติน 30.5% และเด็กเอเชีย 4.4% ซึ่งมีค่าเฉลี่ยด้านความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับประเทศ
6) เปลี่ยนการจัดระเบียบ ‘วินัย’ ให้เป็น ‘ข้อตกลงร่วม’: การลงโทษ จำพวก ‘กักบริเวณ’ หรือ ‘การพบครูใหญ่’ เพื่อแก้ปัญหา แทนที่จะให้นักเรียนเรียนรู้ว่าทำผิดนั้น คุณครูในโรงเรียนเดอแรม คอมมูนิตี้ ในรัฐเมนกลับเลือกใช้ “ข้อตกลงร่วม” แทน “ระเบียบวินัย” เช่น ถ้านักเรียนกระโดดโลดเต้นระหว่างชั่วโมงเรียน ครูจะถามนักเรียนว่า เขามีความคิดอย่างไรในการทำแก้พฤติกรรมที่รบกวนระหว่างเรียน อาทิ ยืนนั่ง 10 นาทีในห้องเรียน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยพัฒนาพฤติกรรม โดยรอสส์ กรีนี นักจิตวิทยาในปี 2011 พบกว่า ระหว่างปี 2012-2013 มีการก่อกวนชั้นเรียนเพียง 8 ครั้งเท่านั้น ซึ่งลดลงจากเดิม 103 ครั้งหลังจากที่นำวิธีการนี้มาปรับใช้
7) ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดตารางการเรียนรู้: เด็กเรียนรู้ได้ดีเมื่อพวกเขาสนใจ ซึ่งปัจจุบันคอมพิวเตอร์กลายเป็นความสนใจร่วม ซึ่งสร้างให้เกิดผลการเรียนรู้ที่ดี โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ประสบผลสำเร็จในอเมริกาขณะนี้คือ อุปกรณ์ที่เรียกว่า “Knewton” ซึ่งเป็นช่องทางการเรียนรู้เสมือนจริงที่สามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน เช่น ใครที่ติดขัดในการคำนวณ Knewton จะให้คำแนะนำการแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจ และเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ได้ตรงจุด เป็นต้น
8) เริ่มชั้นเรียนหลัง 8.30 น.: วัยรุ่นต้องการการพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชม.เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง และหากพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะเป็นสาเหตุนำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ขาดสมาธิ ศักยภาพการเรียนรู้ที่ลดลง ซึ่งขัดแย้งกับสภาพร่างกายของวัยรุ่นที่สามารถตื่นได้ถึงเที่ยงคืน จึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลกลางและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เรียกร้องให้โรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเริ่มเรียนหลังจาก 8.30 น. (แม้ว่าจะมีโรงเรียนน้อยกว่า 1 ใน 5 ในอเมริกาที่ให้ความร่วมมือ)

        โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมินิโซตาพบว่า นักเรียน 60 % จะได้พักผ่อนอย่างน้อย 8 ชม. ซึ่งถือเป็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนตารางชีวิตของวัยรุ่นที่เห็นได้ชัด

ที่มา http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=43040&Key=hotnews

ตามไปดูการศึกษานอกหลักสูตร : จับตามองครูในศตวรรษที่ 21 "ครูหัวใจสะเต็ม"



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ stem



               ถ้าสังคมไทยหลุดพ้นจากวงจรคอร์รัปชั่น ฉ้อฉล โกงกิน ที่เป็น วงจรอุบาทว์ฉุดลากให้ชาติตกต่ำได้อย่างจริงจัง เชื่อแน่ว่า ประเทศไทย จะเป็น หนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าเท่าเทียม และอาจจะล้ำหน้าประเทศที่กำลังเป็นผู้นำของโลกอยู่ในเวลานี้ก็เป็นได้ ยืนยันได้จาก การที่เราได้เห็น ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ซึ่งแฝงอยู่ในสังคมไทย ที่ยังไม่ปรากฏตัว และ กำลังค่อยๆ ปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้น (เมื่อเขาเห็นว่า วงจรอุบาทว์กำลังจะถูกกวาดล้างให้หมดไปจากสังคม) ครูสมสุข แสงปราบ ครูเชี่ยวชาญโรงเรียนนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 32 (บุรีรัมย์) คือ บุคคลที่ เรากำลังตามไปดูในวันนี้ ย้อนหลังไปเมื่อ 13 ปี ที่ผ่านมา ครูสมสุข แสงปราบ ได้รับการฝึกประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ถือว่าดีที่สุด จากการสมัคร เข้าอบรมประชุมปฏิบัติการโครงการความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์เชิงการศึกษา ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรทางการศึกษานานาชาติ (ICASE) เธอได้รับการฝึกอบรมให้เห็นคุณค่าของการเป็นนักผลิตสื่อการสอนด้วยสื่อการสอนง่ายๆ ราคาถูก อยากแก้ปัญหาอะไรไม่ต้องยึดติดกับงบประมาณ แค่ใช้ความคิดหลักการที่สอนมาเป็นแนวทางแก้ไขตามวัตถุประสงค์ โดยอาศัยวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือจากการใช้งานซึ่งมีมากมายมาดัดแปลงให้เป็นอุปกรณ์ในการสอน ด้วยการ วางแผนเขียนแบบ วางโครงร่างแยกชิ้นส่วน คำนวณจากความเป็นไปได้ตามหลักการวิทยาศาสตร์ คำนวณอุปกรณ์ นับชิ้นส่วนประกอบ วัดระยะพื้นที่ งบประมาณการใช้ จากนั้นลงมือสร้างผลงาน มีการทดสอบการใช้ทำงาน เพื่อให้รู้ถึงประสิทธิภาพ แล้วจึงนำไปปฏิบัติจนเกิดผลสัมฤทธิ์ เมื่อการปฏิบัติงานของเธอ ถูกนำเสนอออกไปสู่สังคม จากการประกวด รอบแรกผ่านที่จังหวัดนครราชสีมา สร้างแรงบันดาลใจให้เธออยากทดสอบ อยากพัฒนางานเพิ่มมากขึ้น และ ในการนำเสนอรอบที่สองเมื่อเอาผลงานจาก ศูนย์การศึกษาทั้ง 10 ศูนย์เข้ามาบูรณาการร่วมกันโดยจัดขึ้นที่ Y.W.C.A. กรุงเทพฯ ทำให้การพัฒนาการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนถึง รอบที่สาม ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้มีการกำหนดเอาเวลามาเป็นตัวกำหนดถึงผลสัมฤทธิ์ โดยมีชุดฝึกการแข่งขันเป็นเลโก้ Focus Kits ของ fishertechnikมาเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่เหมือนกันแต่การคิดออกแบบชิ้นงานไม่เหมือนกัน มีการใช้งานแตกต่างกัน สร้างด้วยแนวคิดแก้ปัญหาแตกต่างกัน ได้นวัตกรรมแตกต่างกัน ต้องนำเสนอแนวคิดประกอบการทดสอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคัดเลือกครูให้เข้ารอบเพียง 6 คนจาก 60 คน เพื่อรับรางวัล Teacher Thailand Creative สุดท้าย ประกาศผล 6 ครูเก่งจากทุกภาคของประเทศไทย นางสมสุข แสงปราบ เป็นหนึ่งใน 6 ครูเก่ง ประกอบด้วย ผู้ชาย 5 คน และเป็นผู้หญิง 1 คน เธอได้รับรางวัลให้เดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลา 1 สัปดาห์รับทุนสนับสนุนฟรีค่าใช้จ่ายทุกรายการในลักษณะแขกรับเชิญจากผู้นำประเทศ จากวันนั้นประสบการณ์ที่ได้รับจากต่างประเทศเกี่ยวกับนวัตกรรมศูนย์การเรียนการแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนกับชาวต่างชาติทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบ และตระหนักว่าประเทศเราแพ้เขาตรงไหน ทำไมเราจึงช้ากว่าเขาเป็นห้าสิบปี คำตอบในใจคือ เพราะเขาสอนให้เด็กคิดจากการกระทำ ไม่ใช่ความรู้สูงหรือดีเด่นอะไรเหมือนที่ผ่านมาการฝึกกิจกรรมตามกระบวนทำงานจะทำให้เห็นการกระทำปฏิบัติ ไม่มีเอกสารในการอบรม มีแต่ฝึกแก้ปัญหาฝึกคิดฝึกทำฝึกแลกเปลี่ยน ดังนั้น เธอจึงมีแนวคิดใหม่ทั้งวิธีสอน สร้างแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษา คิดออกแบบกิจกรรมทดลองมาสอนคิดนำสื่อสถานการณ์จากสื่อเว็บไซต์มาช่วยสอน เลือกที่สามารถออกแบบกิจกรรมได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ฝึกคิดทักษะต่างๆ บางครั้งในห้องเรียนมีการใช้สามรูปแบบของกิจกรรมในนักเรียนตามระดับความแตกต่าง จนเป็นเทคนิคที่คิดใหม่กล้าตั้งชื่อใหม่ทดลองสอนและได้รับผลการกระทำการสอนนั้นด้วยการเลื่อนวิทยฐานะเป็นครูเชี่ยวชาญในปี 2551 ทุกวันนี้เธอยังต้องมีอะไรทำ และอยากทำอะไรอีกมากมายยังไม่หยุดการปรับเปลี่ยนตนเองเข้าสู่ครูสอนดี เพื่อเป็นหนึ่งในการเป็นผู้นำครูในศตวรรษที่ 21 ด้วยการร่วมมือกันของทุกฝ่ายจัดการศึกษาที่เร่งด่วนอย่างเต็มใจ อยากให้ครูทุกคนนำไปจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนทุกคนในห้องเรียน สั่งสมให้เด็กใช้สมองให้มากขึ้น สร้างเด็กๆให้คิดเป็น ทำเป็น ในการแก้ปัญหา ด้วยการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ล่าสุดเธอได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมประชุมที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ได้เรียนรู้ สะเต็มศึกษา และทูตสะเต็ม เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ประกอบอาชีพในสาขานั้นๆ ที่สามารถทำงานอาสาสมัคร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่นักเรียน แนะนำครูให้สร้างเชื่อมโยงความรู้ทักษะในการคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้แก่นักเรียน และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดกับครูไทยทุกคน ให้เน้นสอนคิด สอนอย่างมีความหมายเชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงใช้กระบวนการตามขั้นตอนตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ ที่มีการรู้ ถึงปัญหา ตั้งข้อสมมุติฐาน วางแผน และทดสอบ เธอสรุปและยืนยันว่า การนำสะเต็มศึกษามาใช้ในกระบวนการคิดทำงานนั้น จะทำให้ครูที่มีแรงบันดาลใจในการทำงานมีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการสอน มีผลงานต้นแบบจากการค้นพบมีความสุขจากการจัดการศึกษา และนักเรียนมีทักษะ มีความสามารถคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา เกิด ทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสาร และทักษะใช้เทคโนโลยี มีความภาคภูมิใจในผลงานการค้นพบเกิดแรงบันดาลใจในกระบวนการทำงานเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง เพราะ ครูหัวใจสะเต็ม คือ ครูที่จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเน้นกระบวนการคิดที่ดี มีทักษะครบถ้วน มีแรงบันดาลใจในการสร้างองค์ความรู้ นั่นเอง

ที่มา http://www.kroobannok.com/article-76646-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3-:-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-21-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%A1-.html

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559