วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ตามไปดูการศึกษานอกหลักสูตร : จับตามองครูในศตวรรษที่ 21 "ครูหัวใจสะเต็ม"



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ stem



               ถ้าสังคมไทยหลุดพ้นจากวงจรคอร์รัปชั่น ฉ้อฉล โกงกิน ที่เป็น วงจรอุบาทว์ฉุดลากให้ชาติตกต่ำได้อย่างจริงจัง เชื่อแน่ว่า ประเทศไทย จะเป็น หนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าเท่าเทียม และอาจจะล้ำหน้าประเทศที่กำลังเป็นผู้นำของโลกอยู่ในเวลานี้ก็เป็นได้ ยืนยันได้จาก การที่เราได้เห็น ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ซึ่งแฝงอยู่ในสังคมไทย ที่ยังไม่ปรากฏตัว และ กำลังค่อยๆ ปรากฏตัวเพิ่มมากขึ้น (เมื่อเขาเห็นว่า วงจรอุบาทว์กำลังจะถูกกวาดล้างให้หมดไปจากสังคม) ครูสมสุข แสงปราบ ครูเชี่ยวชาญโรงเรียนนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 32 (บุรีรัมย์) คือ บุคคลที่ เรากำลังตามไปดูในวันนี้ ย้อนหลังไปเมื่อ 13 ปี ที่ผ่านมา ครูสมสุข แสงปราบ ได้รับการฝึกประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ถือว่าดีที่สุด จากการสมัคร เข้าอบรมประชุมปฏิบัติการโครงการความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์เชิงการศึกษา ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรทางการศึกษานานาชาติ (ICASE) เธอได้รับการฝึกอบรมให้เห็นคุณค่าของการเป็นนักผลิตสื่อการสอนด้วยสื่อการสอนง่ายๆ ราคาถูก อยากแก้ปัญหาอะไรไม่ต้องยึดติดกับงบประมาณ แค่ใช้ความคิดหลักการที่สอนมาเป็นแนวทางแก้ไขตามวัตถุประสงค์ โดยอาศัยวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือจากการใช้งานซึ่งมีมากมายมาดัดแปลงให้เป็นอุปกรณ์ในการสอน ด้วยการ วางแผนเขียนแบบ วางโครงร่างแยกชิ้นส่วน คำนวณจากความเป็นไปได้ตามหลักการวิทยาศาสตร์ คำนวณอุปกรณ์ นับชิ้นส่วนประกอบ วัดระยะพื้นที่ งบประมาณการใช้ จากนั้นลงมือสร้างผลงาน มีการทดสอบการใช้ทำงาน เพื่อให้รู้ถึงประสิทธิภาพ แล้วจึงนำไปปฏิบัติจนเกิดผลสัมฤทธิ์ เมื่อการปฏิบัติงานของเธอ ถูกนำเสนอออกไปสู่สังคม จากการประกวด รอบแรกผ่านที่จังหวัดนครราชสีมา สร้างแรงบันดาลใจให้เธออยากทดสอบ อยากพัฒนางานเพิ่มมากขึ้น และ ในการนำเสนอรอบที่สองเมื่อเอาผลงานจาก ศูนย์การศึกษาทั้ง 10 ศูนย์เข้ามาบูรณาการร่วมกันโดยจัดขึ้นที่ Y.W.C.A. กรุงเทพฯ ทำให้การพัฒนาการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนถึง รอบที่สาม ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้มีการกำหนดเอาเวลามาเป็นตัวกำหนดถึงผลสัมฤทธิ์ โดยมีชุดฝึกการแข่งขันเป็นเลโก้ Focus Kits ของ fishertechnikมาเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่เหมือนกันแต่การคิดออกแบบชิ้นงานไม่เหมือนกัน มีการใช้งานแตกต่างกัน สร้างด้วยแนวคิดแก้ปัญหาแตกต่างกัน ได้นวัตกรรมแตกต่างกัน ต้องนำเสนอแนวคิดประกอบการทดสอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคัดเลือกครูให้เข้ารอบเพียง 6 คนจาก 60 คน เพื่อรับรางวัล Teacher Thailand Creative สุดท้าย ประกาศผล 6 ครูเก่งจากทุกภาคของประเทศไทย นางสมสุข แสงปราบ เป็นหนึ่งใน 6 ครูเก่ง ประกอบด้วย ผู้ชาย 5 คน และเป็นผู้หญิง 1 คน เธอได้รับรางวัลให้เดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลา 1 สัปดาห์รับทุนสนับสนุนฟรีค่าใช้จ่ายทุกรายการในลักษณะแขกรับเชิญจากผู้นำประเทศ จากวันนั้นประสบการณ์ที่ได้รับจากต่างประเทศเกี่ยวกับนวัตกรรมศูนย์การเรียนการแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนกับชาวต่างชาติทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบ และตระหนักว่าประเทศเราแพ้เขาตรงไหน ทำไมเราจึงช้ากว่าเขาเป็นห้าสิบปี คำตอบในใจคือ เพราะเขาสอนให้เด็กคิดจากการกระทำ ไม่ใช่ความรู้สูงหรือดีเด่นอะไรเหมือนที่ผ่านมาการฝึกกิจกรรมตามกระบวนทำงานจะทำให้เห็นการกระทำปฏิบัติ ไม่มีเอกสารในการอบรม มีแต่ฝึกแก้ปัญหาฝึกคิดฝึกทำฝึกแลกเปลี่ยน ดังนั้น เธอจึงมีแนวคิดใหม่ทั้งวิธีสอน สร้างแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษา คิดออกแบบกิจกรรมทดลองมาสอนคิดนำสื่อสถานการณ์จากสื่อเว็บไซต์มาช่วยสอน เลือกที่สามารถออกแบบกิจกรรมได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ฝึกคิดทักษะต่างๆ บางครั้งในห้องเรียนมีการใช้สามรูปแบบของกิจกรรมในนักเรียนตามระดับความแตกต่าง จนเป็นเทคนิคที่คิดใหม่กล้าตั้งชื่อใหม่ทดลองสอนและได้รับผลการกระทำการสอนนั้นด้วยการเลื่อนวิทยฐานะเป็นครูเชี่ยวชาญในปี 2551 ทุกวันนี้เธอยังต้องมีอะไรทำ และอยากทำอะไรอีกมากมายยังไม่หยุดการปรับเปลี่ยนตนเองเข้าสู่ครูสอนดี เพื่อเป็นหนึ่งในการเป็นผู้นำครูในศตวรรษที่ 21 ด้วยการร่วมมือกันของทุกฝ่ายจัดการศึกษาที่เร่งด่วนอย่างเต็มใจ อยากให้ครูทุกคนนำไปจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนทุกคนในห้องเรียน สั่งสมให้เด็กใช้สมองให้มากขึ้น สร้างเด็กๆให้คิดเป็น ทำเป็น ในการแก้ปัญหา ด้วยการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ล่าสุดเธอได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมประชุมที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ได้เรียนรู้ สะเต็มศึกษา และทูตสะเต็ม เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ประกอบอาชีพในสาขานั้นๆ ที่สามารถทำงานอาสาสมัคร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่นักเรียน แนะนำครูให้สร้างเชื่อมโยงความรู้ทักษะในการคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้แก่นักเรียน และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดกับครูไทยทุกคน ให้เน้นสอนคิด สอนอย่างมีความหมายเชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงใช้กระบวนการตามขั้นตอนตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ ที่มีการรู้ ถึงปัญหา ตั้งข้อสมมุติฐาน วางแผน และทดสอบ เธอสรุปและยืนยันว่า การนำสะเต็มศึกษามาใช้ในกระบวนการคิดทำงานนั้น จะทำให้ครูที่มีแรงบันดาลใจในการทำงานมีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการสอน มีผลงานต้นแบบจากการค้นพบมีความสุขจากการจัดการศึกษา และนักเรียนมีทักษะ มีความสามารถคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา เกิด ทักษะชีวิต ทักษะการสื่อสาร และทักษะใช้เทคโนโลยี มีความภาคภูมิใจในผลงานการค้นพบเกิดแรงบันดาลใจในกระบวนการทำงานเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง เพราะ ครูหัวใจสะเต็ม คือ ครูที่จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเน้นกระบวนการคิดที่ดี มีทักษะครบถ้วน มีแรงบันดาลใจในการสร้างองค์ความรู้ นั่นเอง

ที่มา http://www.kroobannok.com/article-76646-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3-:-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-21-%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%A1-.html

1 ความคิดเห็น: